วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

สดุดี"เหล่าวีรชนคนกล้า" พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ขอขอบคุณที่มาข่าวจาก

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
15 ธันวาคม 2551 06:05 น.

http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9510000143682






เหตุการณ์"7ตุลาทมิฬ" ที่ตำรวจใช้ระเบิดแก็สน้ำตาสลายผู้ชุมนุม

น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือน้องโบว์

พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี หรือ “สารวัตรจ๊าบ” วีรชนผู้กล้า "7 ตุลาทมิฬ"

ผู้ชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล ร่วมกันทำบุญ ตักบาตรให้แก่ น้องโบว์และสารวัตรจ๊าบ

นายเจนกิจ กลัดสาคร เหยื่อระเบิด M-79 ยิงมาจากภายนอกสถานที่ชุมนุมเข้ามาทะลุเต้นท์ผ้าใบในทำเนียบรัฐบาล

ด.ญ.ลิปิการ์ กลัดสาคร หรือน้องคุ๊กกี้ และ นางปิญชาน์ สุขภูตานันท์ คู่ชีวิตของนาย เจนกิจ

นายยุทธพงษ์ เสมอภาพ หรือ "น้องเหน่ง" อายุ 22ปี เหยื่อบึ้มอีกรายที่เสียชีวิตขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่การ์ดอาสา

สภาพรถและร่างไร้วิญญาณของนายเศรษฐา เจียมกิจวัฒนา ที่สังเวยชีวิต เพราะถูกกลุ่ม "รักเชียงใหม่ 51" สังหารอย่างโหดเหี้ยม เพื่อสกัดไม่ให้เคลื่อนไหวคัดค้านนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าจังหวัดเชียงใหม่

พี่น้องพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมฟังพระสวดอภิธรรมศพ นายรณชัย ไชยศรี และ “น้องโบ” กมลวรรณ หมื่นหนู ผู้เสียชีวิตจากเหตุ ลอบยิงระเบิด M-79 ระหว่างการชุมนุมขับไล่รัฐบาลทรราช



บรรยากาศงานศพ นายรณชัย ไชยศรี หรือน้องไข่ดำ หรือน้องชัย

น.ส.กมลวรรณ หมื่นหนู หรือน้องโบ วีรสตรีพันธมิตรฯ

ชาวบ้านจำนวนมาก มารับน้องโบ วันที่ร่างไร้วิญญาณกลับถึงบ้านเกิด

นางบุญสม ไชยศรี มารดาของนายรณชัย

น.ส.ศศิธร เชยโสภณ หรือ "ติ๊ก" เมื่อครั้งร่วมต่อสู้กับพันธมิตรฯ

น.ส.ศศิธร (คนที่ 4 จากด้านซ้าย) ถ่ายภาพร่วมกับเพื่อนการ์ดอาสาพันธมิตรฯ
การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อต่อสู้คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 และขับไล่ "รัฐบาลร่างทรง" เพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันถูกต้อง ดีงาม และต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเมืองเก่าจากวงจรอุบาทว์เดิมๆ ไปสู่การเมืองใหม่ นับเป็นการต่อสู้ของการเมืองภาคประชาชนที่เข้มแข็ง โดยได้เริ่มชุมนุมใหญ่ตั้งแต่แรกเริ่มที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเคลื่อนไปสะพานมัฆวานรังสรรค์ในวันที่ 25 พฤษภาคม จนมาจบที่สนามบินสุวรรณภูมิในวันที่ 3 ธันวาคม 2551 รวมเวลา 193 วัน แม้การแสดงพลังของการชุมนุมด้วยหลักอหิงสา ของเหล่าพันธมิตรกู้ชาติที่เปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์อันแรงกล้าจนได้ชัยชนะตามรายทางต่างๆ มาอย่างมากมายนั้น กลับต้องแลกมาด้วยชีวิตของเหล่าวีรชนคนกล้า โดยทั้ง 8 คนประกอบด้วย 1.น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ 2.พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี 3.นายเจนกิจ กลัดสาคร 4.นายยุทธพงษ์ เสมอภาค 5.น.ส.กมลวรรณ หมื่นหนู 6.นายรณชัย ไชยศรี 7.นายเศรษฐา เจียมกิจวัฒนา และ 8.น.ส.ศศิธร เชยโสภณ
ห้วงเวลาแห่งการสูญเสีญเริ่มต้นจากในช่วงคืนวันที่ 6 ต.ค.ต่อวันที่ 7 ต.ค.เป็นการกระทำอันโหดร้ายและเลือดเย็นของตำรวจ ที่เข้าสลายการชุมนุมพันธมิตรฯ ที่บริเวณหน้ารัฐสภา และกองบัญชาการตำรวจนครบาล ปฐมเหตุเกิดจากมติคณะรัฐมนตรีได้กำหนดวันเพื่อให้รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี ที่ชื่อ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ สามารถแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา ทั้งที่ก่อนเริ่มปฏิบัติการอันโหดร้ายนั้นในเวลาประมาณ 06.15 น.ตำรวจไม่ได้มีการประสานเพื่อเจรจาหรือพูดคุยกับกลุ่มพันธมิตรฯ การควบคุมฝูงชน ทางตำรวจได้ปฏิบัติข้ามขั้นตอน โดยไม่เจรจาต่อรอง เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ แต่กลับใช้กระสุนแก๊สน้ำตา และระเบิดแก๊สน้ำตาชนิดขว้าง รวมถึงกระสุนยางจำนวนมากยิงใส่ผู้ชุมนุม จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก อันเป็นที่มาของคำว่า "ตำรวจฆ่าประชาชน"
ซ้ำร้ายหลังแถลงนโยบายในตอนเช้า รัฐบาลมิได้สั่งการให้ตำรวจหยุดสลายการชุมนุม แต่ยังมีการสลายการชุมนุมต่อจนถึง 24.00 น. โดยการสลายตำรวจมิได้ใช้วิธีจากเบาไปหาหนัก แต่เริ่มที่จะยิงแก๊สน้ำตาโดยเล็งใส่เข้าฝูงชน ไม่เลือกที่จะใช้โล่ห์และกระบองผลักดัน หรือใช้น้ำฉีด ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 400 คน และเสียชีวิต 2 คน เหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้พันธมิตรสูญเสีย วีรชนคนกล้า คือ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือ "น้องโบว์" บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) คณะบริหารธุรกิจ เป็นบุตรของนายจินดา ระดับปัญญาวุฒิ และนางวิชุดา ระดับปัญญาวุฒิ หลังจากตรวจสอบหลักฐานต่างๆจากที่เกิดเหตุ แพทย์ได้สรุปว่า “น้องโบว์” เสียชีวิตจากแก๊สน้ำตาคุณภาพต่ำระเบิด ที่มีความร้อนกระแทกอย่างแรง ซ้ำร้ายตำรวจผู้เป็นฆาตกรและจำเลยสังคมในเหตุการณ์ "7 ตุลาทมิฬ" ครั้งนี้ ยังโยนบาปให้กับ "น้องโบว์" โดย พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวหาว่าการเสียชีวิตของน้องโบว์เกิดจากการใช้แขนหนีบวัตถุบางอย่างไว้ และพกระเบิดใส่กระเป๋าเข้ามาในการชุมนุม

น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ แต่น้ำตาแห่งการสูญเสียของครอบครัว "ระดับปัญญาวุฒิ" ก็ได้หลั่งมาพร้อมกับน้ำตาแห่งความปลื้มปีติ เพราะเมื่อเวลา 19.00 น.วันที่ 9 ตุลาคม ท่านผู้หญิงฉัตรแก้ว นันทาภิวัฒน์ รองราชเลขาในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เป็นตัวแทนอัญเชิญพวงมาลา เพื่อวางหน้าศพ น้องโบว์ ที่วัดศรีประวัติ ต.ปลายบาง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ต่อมาวันที่ 13 ตุลาคม 2551 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารี ไปในพิธีพระราชเพลิงศพ"น้องโบว์" ซึ่งทำให้ครอบครัว “ระดับปัญญาวุฒิ”รวมถึงชาวพันธมิตรฯ ต่างรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นที่ยิ่ง วีรชนคนกล้าที่ต้องจากไปอย่างไม่มีวันกลับอีกคนหนึ่ง ในเหตุการณ์ "7ตุลาทมิฬ" คือ พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี หรือ “สารวัตรจ๊าบ” ตำรวจนอกราชการ ผู้ประสานงานเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จังหวัดบุรีรัมย์ และหัวหน้าการ์ดพันธมิตรฯ ภาคอีสาน อายุ 39 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ที่ บ.โนนเจริญ ต.ตูมใหญ่ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ สมรสกับ น.ส.เพ็ญพิมล ใสงาม น้องสาวนายการุณ ใสงาม อดีต ส.ว.บุรีรัมย์ มีบุตร 3 คน เป็นชาย 1 คน อายุ 13 ปี และหญิง 2 คน อายุ 8 ขวบ และ 3 ขวบ ร่วมเป็นเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา โดยถือเป็นแกนนำเครือข่ายพันธมิตรฯ คนสำคัญของ จ.บุรีรัมย์

พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี ด้วยเหตุการณ์ที่ชุลมุนวุ่นวาย ณ นาทีการสลายชุมนุม ระหว่างที่รัฐบาลใช้กำลังของตำรวจตระเวนชายแดนยิงแก๊สน้ำตา รวมถึงระเบิดสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ "สารวัตรจ๊าบ" ได้เสียชีวิตจากถูกฆาตกรรมและถูกทำลายหลักฐานด้วยแรงระเบิดรถยนต์จิ๊ปเชอโรกีหน้าที่ทำการพรรคชาติไทย เป็นอีกครั้งที่"จำเลยสังคม" อย่างตำรวจ ได้โยนความผิดว่า "สารวัตรจ๊าบ"ขนระเบิดมาเองจนทำให้เสียชีวิต แต่ถึงอย่างไรการชุมนุมของพันธมิตรในการขับไล่รัฐบาลและยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงเดินหน้าต่อไป กระทั่งเมื่อคืนวันที่ 20 พฤศจิกายน ความเศร้าสลดใจกลับต้องมาเยือนกับผู้ชุมนุมพันธมิตรอีกครั้ง ขณะที่ผู้ชุมนุมนอนหลับอยู่ภายในทำเนียบรัฐบาล เกิดเหตุ "มือมืด" ใช้อาวุธสงครามประเภทระเบิด M-79 ยิงมาจากภายนอกสถานที่ชุมนุมเข้ามาทะลุเต็นท์ผ้าใบในทำเนียบรัฐบาล ส่งผลให้ นายเจนกิจ กลัดสาคร พันธมิตจรฯ จากอำเภอสัตหีบ จ.ชลบุรี ได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดทะลุคอด้านซ้ายตัดเส้นเลือดใหญ่ รุนแรงมากทำให้เสียเลือดมากจนช็อค และเสียชีวิตหลังจากถึงโรงพยาบาลรามาธิบดี การกระทำที่ไร้ซึ่งศีลธรรมของรัฐบาลในครั้งนี้ ทำให้ชายผู้ซึ่งเป็นสามีของผู้หญิงคนหนึ่ง และเป็นพ่อของลูกๆ อีก 2 คน ที่จากไปพร้อมกับทิ้งภาระอันหนักอึ้งและความโศกเศร้าสุดบรรยายไว้ให้คนที่อยู่ข้างหลัง ซึ่งน้อง คุ้กกี้ เด็กหญิงวัย 11 ปี บุตรสาวของนายเจนกิจ กล่าวอย่างหนักแน่นว่า “รัฐบาล” เป็นผู้อยู่เบื้องหลังในครั้งนี้ พร้อมทั้งกล่าวว่า เธอเชื่อว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังการเสียชีวิตของพ่อเธอและรวมถึงผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตคนอื่นๆ นั้น คือ รัฐบาล ที่ใช้เงินไปจ้าง นปช.-นปก.มายิงอาวุธสงครามใส่พันธมิตรฯแน่นอน “หนูโกรธเขามาก หนูเกลียดมาก และหนูก็แค้นมากด้วย กับคนที่ฆ่าและสั่งฆ่าพ่อของหนู หนูอยากจะถามกลับเขาเหมือนกันว่า ถ้าเป็นพ่อเขาตาย เป็นแม่เขาตายบ้าง เขาจะรู้สึกอย่างไร เขาจะอยู่ได้อย่างไร” น้องคุ๊กกี้ กล่าวด้วยน้ำเสียงอันเจ็บช้ำ

นายเจนกิจ กลัดสาคร อนึ่ง นายเจนกิจ กลัดสาคร อายุ 48 ปี สมรสกับ นางปิญชาน์ สุขภูตานันท์ อายุ 36 ปี มากว่า 10 ปี โดยนายเจนกิจเป็นคนจังหวัดชุมพร และได้มาค้าขายที่ อ.สัตหีบ มีลูก 2 คน คือ ด.ญ.ลิปิการ์ กลัดสาคร หรือน้องคุ้กกี้ อายุ 11 ปี และ ด.ช.ศิรชัช กลัดสาคร หรือ ปังปอนด์ อายุ 7 ขวบ เพียงไม่กี่วันต่อมา เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พันธมิตรก็ต้องเผชิญกับการสูญเสียในเวลาไม่ห่างกันนัก เมื่อเกิดเหตุคนร้ายฝ่ายรัฐบาลนั่งมอเตอร์ไซค์ยิงอาวุธสงครามประเภทระเบิด M-79 จากริมรั้วกองบัญชาการตำรวจนครบาลเข้ามาในพื้นที่ชุมนุม ขณะที่นายยุทธพงษ์ เสมอภาพ หรือ "น้องเหน่ง" อายุ 22 ปี การ์ดอาสาที่ทำหน้าที่แจกน้ำและอาหารให้กับสารวัตรทหารบริเวณสี่แยกมิสกวันถูกสะเก็ดระเบิดเข้าที่บริเวณศีรษะและลำตัว ทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส "น้องเหน่ง" ได้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ภายในห้องศัลยกรรมชาย-หญิง ชั้น 5 ตึก 1 แต่บาดแผลที่ได้รับสาหัสเกินไป หลังจากแพทย์ยื้อชีวิตมานาน 4 วันแต่อาการไม่ดีขึ้น "น้องเหน่ง" ก็เสียชีวิตลงอย่างสงบ ถึงแม้จะเหลือแต่ร่างไร้วิญญาณแล้ว "น้องเหน่ง" ยังทำประโยชน์ให้กับสังคม ซึ่งทางญาติยินดีบริจาค ร่างกาย และอุทิศอวัยวะที่ยังใช้งานได้ของผู้ตาย บริจาคให้กับทาง ร.พ. เพื่อนำไปเปลี่ยนถ่ายให้กับคนไข้รายอื่นที่ต้องการ ซึ่งเป็นความปรารถนาดีของคนไข้ และญาติ นับเป็นความเศร้าสลดเสียใจต่อผู้ใกล้ชิด "น้องเหน่ง" และพี่น้องพันธมิตรทุกคนที่ได้เกิดการสูญเสียในครั้งนี้ ที่ได้ชุมนุมอย่างสงบแต่ถูก"สัตว์นรก" ลอบโจมตี
จากการชุมนุมมาอย่างยาวนาน และผนวกกับห้วงเวลาแห่งการสูญเสียพี่น้องพันธมิตรได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงที่ผ่านมา จนไม่อาจทนอยู่ได้อีกต่อไปจึงเกิดยุทธการ "สงครามม้วนเดียวจบ" ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขึ้นในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2551 พี่น้องพันธมิตรจากทั่วทุกทิศของประเทศไทยต่างออกมาร่วมแสดงพลังของประชาชนกันอย่างเนืองแน่น อย่างไรก็ตามการถูกบั่นทอนพลังของพันธมิตรในการชุมนุมขับไล่รัฐบาล มิได้จำกัดแค่ภายในเมืองหลวงอย่าง กรุงเทพฯ เท่านั้น หากแต่ว่าหลังเกิดเหตุสูญเสียที่ทำเนียบรัฐบาล ได้เกิดเหตุเศร้าสลดตามมาอีก คราวนี้เป็นที่จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นฐานที่มั่น ของบรรดาแก็งเสื้อแดง "กลุ่มฮักเชียงใหม่ 51" นายเศรษฐา เจียมกิจวัฒนา บิดานายเทอดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา แกนนำกลุ่มทหารเสือพระราชาได้ขับรถกระบะ พุ่งฝ่าวงล้อมของกลุ่มฮักเชียงใหม่ 51 ที่ชุมนุมอยู่หน้าหมู่บ้านระมิงค์นิเวศน์ราว 50 คน ใช้ท่อนไม้และท่อนเหล็กทุบใส่กระจกรถ พร้อมกับเปิดล็อกรถลากตัวนายเศรษฐาลงมาซ้อม ระหว่างนั้นมีเสียงปืนขึ้น 1 นัด และรุมทำร้าย ทำให้นายเศรษฐาเสียชีวิตในที่เกิดเหตุในวันที่ 26 พฤศจิกายน

นายเศรษฐา เจียมกิจวัฒนา ถูกกลุ่มคนเสื้อแดงรุมทำร้ายจนเสียชีวิต โดย "วิหคเรดิโอ" เป็นสถานีวิทยุที่จัดถ่ายทอดสดรายการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยผ่านเอเอสทีวีมาอย่างตลอด เพื่อส่องสว่างทางปัญญาแก่ประชาชน จึงทำให้สถานีวิหคเรดิโอเป็นเป้าหมายของกลุ่มเสื้อแดง ซึ่งเป็นอีกครั้งที่พี่น้องพันธมิตรที่ยืนต่อสู้กับ "สิ่งชั่วร้าย" ในสังคมอย่างเต็มที่ และต้องมาสูญเสียชีวิตไปอีกคนหนึ่ง ระดับการต่อสู้ของพันธมิตรยังคงเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ หลังประกาศ "สงครามม้วนเดียวจบ" โดยใช้ "ยุทธศาสตร์ดาวกระจาย" ไปยังสถานที่สำคัญของรัฐบาลรวมไปถึงรัฐสภา จึงมีการแยกย้ายผู้ชุมนุมบางส่วนไปชุมนุมใหญ่ที่สนามบินดอนเมือง ทำให้จุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือทำเนียบรัฐบาล รวมถึงการดูแลความปลอดภัยต่อผู้ชุมนุมจึงอ่อนลงเป็นธรรมดา และก็เป็นอีกครั้งที่ถูกคนจากฟากรัฐบาล อาศัยช่องโจมตีพี่น้องพันธมิตรฯ จนในคืนวันที่ 30 พฤศจิกายน คนร้ายได้ยิง "ฑูตมรณะ" อาวุธสงครามระเบิด M-79 มาจากภายนอกสถานที่ชุมนุมเข้ามาทะลุเต็นท์ผ้าใบในทำเนียบรัฐบาล จนทำให้ “น้องโบ” กมลวรรณ หมื่นหนู พันธมิตรฯ ภาคใต้จากจังหวัด พัทลุง ต้องเสียชีวิตในเวลาต่อของวันที่ 2 ธันวาคม เนื่องจากภาวะสมองตายอย่างสิ้นเชิง โดยมีเลือดออกในสมอง มีสะเก็ดระเบิดฝังเนื้อสมอง ทำให้สมองบวมช้ำ มีชีวิตอยู่ได้ด้วยเครื่องช่วยหายใจ ทางญาติจึงตัดสินใจจะไม่ยื้อชีวิตต่อไปและได้บริจาคอวัยวะ เปลี่ยนถ่ายอวัยวะให้กับผู้ป่วยรายอื่น สำหรับ น.ส.กมลวรรณ หมื่นหนู หรือน้องโบ เธอเสียชีวิต ด้วยวัยเพียง 27 ปี พื้นเพเป็นชาว ต.ทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เป็นบุตรสาวของนายวิชาญ-นางกัญญา หมื่นหนู โบเป็นพี่สาวคนโต ซึ่งมีน้องชายและน้องสาวอีก 2 คนคือ นายพิชิตพล หมื่นหนู กับ น.ส.วิชุดา หมื่นหนู

น.ส.กมลวรรณ หมื่นหนู น้องโบจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพาณิชย์พระนคร ก่อนเสียชีวิตเธอทำงานในตำแหน่งพนักงานบัญชีของบริษัทซูซูกิที่กรุงเทพฯ และได้ส่งเงินช่วยเหลือเจือจุนพ่อแม่พี่น้องเดือนละ 5,000 บาทเป็นอย่างน้อย นี่จึงเป็นที่ประจักษ์ว่าโบมีนิสัยใจคอและยอดกตัญญู นับเป็นการสูญเสีย "วีรสตรีหญิงใจเหล็ก" ที่ต่อสู้กู้ชาติและต้องแลกมาด้วยชีวิต ต่อจาก น้องโบว์" อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ ซึ่ง “น้องโบ” กมลวรรณ หมื่นหนู ถือเป็นพันธมิตรฯ หญิงคนที่ 2 ที่เสียชีวิตจากการชุมนุมขับไล่รัฐบาลทรราช ช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่กี่วันนี้ นับเป็นการต่อสู้กับ "อำนาจมืด" ของรัฐบาล นาย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่สุดแสนทรหดอดทนของพันธมิตรฯ ซึ่งถ้านับตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน จน ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน มีผู้เสียชีวิตที่โดน "สัตว์นรก" ลอบกัดจนเสียชีวิตแล้วถึง 4 ราย
แต่ความสูญเสียก็มิได้หมดลงแค่เพียงเท่านี้ คืนกลางดึกของวันที่ 1 ธันวาคม ขณะที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่กำลังนอนหลับอยู่ที่สนามบินดอนเมืองอย่างสงบ มีคนร้ายฝ่ายรัฐบาลได้ยิงอาวุธสงครามประเภทระเบิด M-79 ยิงมาจากบริเวณทางด่วนเข้ามาในสถานที่ชุมนุม ทำให้บริเวณประตูกระจกแตก และบาดเจ็บจำนวนมาก เสียชีวิต 1 รายคือ นายรณชัย ไชยศรี ถูกสะเก็ดระเบิดที่หลังทะลุช่องท้อง เสียเลือดจำนวนมาก ได้เสียชีวิตลงเมื่อเวลา 01.10 น. ของวันที่ 2 ธันวาคม สาเหตุการเสียชีวิตคาดว่ามาจาการเสียเลือดมาก นายรณชัย ไชยศรี หรือ "น้องไข่ดำ" เสียชีวิตด้วยวัย 29 ปี เป็นบุตรของนายอุทัย-นางบุญสม ไชยศรี มีพี่ชาย 1 คนคือ นายคมสันต์ ไชยศรี จบการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล นครศรีธรรมราช ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กำลังศึกษาปริญญาเอกต่อที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน แต่ยังไม่ทันจบเพื่อได้รับการเรียกขานด้วยคำนำหน้าชื่อว่า ด็อกเตอร์ ก็มีอันต้องจากพรากไปเสียก่อน ขณะร่ำเรียนอย่างเคร่งเครียด นายรณชัย ก็หารายได้ด้วยการรับจ้างพิมพ์งานคอมพิวเตอร์เพื่อส่งตัวเองไปด้วย เพราะเป็นคนที่ถนัดการใช้คอมพ์เป็นอย่างมาก และมุ่งมั่นที่จะเป็นภาระให้แก่ครอบครัวน้อยที่สุด บ่อยครั้งที่ "ไข่ดำ" เดินทางไปร่วมชุมนุมกับพี่น้องพันธมิตรฯ ที่กรุงเทพฯ โดยแม่มักจะหาข้ออ้างต่างๆ นานาเพื่อทัดทานไว้ แต่ไข่ดำก็ยังเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของการชุมนุมของพี่น้องพันธมิตรฯ อยู่ตลอด นางบุญสม ไชยศรี แม่ของนายรณชัย กล่าวด้วยน้ำตาคลอว่า ที่เขาอยากเข้าร่วมการต่อสู้กับพี่น้องพันธมิตรฯ เพราะเขาสงสารในหลวง แม่ก็ได้บอกไปว่าคนเดียวช่วยอะไรไม่ได้หรอก เพราะเราไปมือเปล่า แต่พวกรัฐบาลมันมีปืน เราจะไปสู้อะไรเขาได้ แต่เขาก็บอกว่าถ้าไม่ตายตอนนี้ ตอนหลังก็ต้องตาย และถ้าได้ตายเพื่อชาติ เพื่อในหลวงเขาก็ยอม พ่อแม่จะได้ภูมิใจด้วย “ก็ขอให้ลูกหลับให้สบาย ให้ไปเป็นทหารคอยอารักขาพระพี่นางฯ ไม่ต้องเป็นห่วงพ่อแม่กับพี่ และคนข้างหลัง พ่อกับแม่ภูมิใจในตัวของลูกมากที่สุด” เป็นคำพูดของคุณแม่ของ น้องไข่ดำ ที่ทราบซึ้งและภาคภูมิใจที่ลูกได้เดินอยู่ในเส้นทางของความดีและได้ต่อสู้เพื่อความถูกต้องตราบสิ้นลมหายใจ
จากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ยุบ 3 พรรคการเมือง รวมทั้งพรรคพลังประชาชน ทำให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยปริยาย ทำให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตัดสินใจประกาศยุติการชุมนุม เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ซึ่งทางการ์ดอาสาพันธมิตรฯ ต้องเคลียร์พื้นที่ชุมนุม ที่ทำเนียบรัฐบาล และเมื่อคืนกลางดึกของวันที่ 2 ธ.ค.นั่นเอง พันธมิตรฯ ก็ได้รับข่าวร้ายอีกครั้ง เมื่อ น.ส.ศศิธร เชยโสภณ หรือ ติ๊ก การ์ดอาสาฯ ประสบอุบัติเหตุตกจากรถยนต์ปิกอัพ ขณะทำขนของออกจากทำเนียบรัฐบาล ศีรษะฟาดพื้น ต้องเข้ารักษาตัวในห้องไอซียู โรงพยาบาลมิชชั่น จนเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.น้องติ๊กได้เสียชีวิตลงอย่างสงบ ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจของญาติมิตรและเพื่อนการ์ดอาสาพันธมิตรฯ สำหรับ น.ส.ศศิธร เชยโสภณ หรือ ติ๊ก อายุ 32 ปี มีอาชีพเป็นพนักงานต้อนรับที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านอุรุพงษ์ ร่วมทำหน้าที่การ์ดอาสา สังกัด สน.พันธมิตร ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา โดยเป็นเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์สั่งการเคลื่อนที่ ในปฏิบัติการดาวกระจายหลายครั้ง ดูแลข้อมูลการออกบัตรผ่านพื้นที่ควบคุมชั้นในของทีมงานและแกนนำ รวมทั้งช่วยดูแลจัดการด้านที่พักให้กับแกนนำ และผู้ปราศรัยบนเวทีพันธมิตรหลายคน

น.ส.ศศิธร เชยโสภณ นายชนะ ผาสุกสกุล ผู้ประสานงาน การ์ดอาสา พันธมิตรฯ เล่าว่า ติ๊ก เป็นห่วงเพื่อนๆการ์ดอาสาเสมอ เสร็จจากงานที่โรงแรมก็มาที่ สน.พันธมิตร ที่สะพานมัฆวานฯ ทันที อยู่จนเช้าแล้วกลับบ้านไปทำงานต่อ ช่วงท้ายก่อนยุติการชุมนุม เมื่อพล.ต.จำลอง สั่งให้การ์ดอาสาตรึงกำลังอยู่ที่ทำเนียบช่วงสุดท้าย ติ๊กลางานมาอยู่ที่นี่เลย 2-3 วัน ไม่ยอมไปไหน อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้นับเป็นอีกครั้งที่พันธมิตรฯ ต้องสูญเสียบุคคลที่มีจิตอาสา อุทิศตัวปกป้องผู้อื่น ที่เต็มไปด้วยอุดมการณ์อันแน่วแน่ แม้จะถูกจ้องทำลายโดยการสร้างสถานการณ์และป้ายความผิดมาให้ แต่ยังพร้อมปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยเป็นด่านหน้าให้พี่น้องพันธมิตรตลอดเวลาของการชุมนุมขับไล่รัฐบาล ทุกเหตุการณ์ที่นำมาซึ่งการสูญเสียและเศร้าสลด บางคนสูญเสียอวัยวะ บาดเจ็บ และเสียชีวิต ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของการชุมนุมอันศักดิ์สิทธิของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขณะที่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เพียงแต่กล่าวว่าเหตุสูญเสียทั้งหมดเป็นแค่การ "ฆาตกรรมธรรมดา" จนถึงวันนี้การหาตัวผู้ก่อเหตุที่เกิดขึ้น ยังคงลอยนวลต่อไป รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐในการออกมาตรการในการจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษ ไม่ต่างจาก "คลื่นกระทบฝั่ง" ถึงแม้การต่อสู้ 193 วัน แห่งการชุมนุมอย่างยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์จะจบสิ้นลงแล้ว แต่ความดีงามและกล้าหาญของ"วีรชนคนกล้า" ที่เสียสละชีวิต พิการ บาดเจ็บ เพื่อปกป้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่ง ชาติ ราชบัลลังก์ และรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การเมืองใหม่ ทั้งหมดได้ถูกจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ ซึ่งจะอยู่ในใจของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตลอดกาล และขอให้ดวงวิญญาณเหล่าผู้กล้าจงไปสู่ดินแดนอันสุขสงบเต็มไปด้วยหมู่มวลดอกไม้ ปราศจากทุกข์ภัยทั้งปวงในสัมปรายภพ